
ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ |
ตั้งอยู่ถนนสละชีพ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นศิลปะเแบบลพบุรี สร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดศาลหลักเมืองนี้ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นหลักชัยคู่บ้านคู่เมือง

เขาช่องกระจก
เป็นภูเขาขนาดเล็กมีลิงเสนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทางขึ้นอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด มีบันได 396 ขั้น ขึ้นไปจนถึงยอดเขาซึ่งมีความสูง 245 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเป็นที่ตั้งของวัดเขาช่องกระจก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองและพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงประกอบพิธีบรรจุเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2501 และทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีงานฉลองเป็นประจำวันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี ด้านทิศเหนือของภูเขามีช่องโปร่งทะลุดูคล้ายกับกรอบของกระจกอันเป็นที่มาของชื่อ จากยอดเขาสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมือง อ่าวทั้งสามและหมู่เกาะต่างๆ ได้อย่างสวยงาม มีศาลานั่งพักผ่อนหย่อนใจ
การเดินทาง
รถยนต์ จากทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) กิโลเมตรที่ 320 เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมือง ข้ามทางรถไฟไปประมาณ 2 กิโลเมตร ผ่านสนามกีฬาจังหวัดตรงไปอีก 500 เมตร ถึงวัดธรรมิการาม มีทางขึ้นเขาช่องกระจกอยู่ด้านขวาของวัด
รถโดยสารประจำทาง ลงรถที่ท่ารถ แล้วนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้าง
รถไฟ ลงรถที่สถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ แล้วต่อรถสามล้อหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

อ่าวน้อย อ่าวประจวบคีรีขันธ์ |
อยู่หน้าเมืองประจวบฯ มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะต่อการออกกำลังกาย เช่น วิ่ง ขี่จักรยานเลียบชายทะเล โดยอ่าวน้อยและอ่าวประจวบฯ มีถนนเลียบชายหาดเชื่อมโยงถึงกัน อ่าวน้อย มีทิวสนขนานไปกับถนน อ่าวประจวบฯ มีบาทวิถีให้เดินชมท้องทะเลได้อย่างใกล้ชิด และมีร้านอาหารทะเลให้เลือกสรรรับประทานหลายแห่ง

อ่าวมะนาว |
อยู่ในเขตกองบิน 53 กองทัพอากาศ เป็นหาดสะอาด ธรรมชาติสวยงาม เหมาะแก่การเล่นน้ำตรงข้ามกับหาดเป็นเขาล้อมหมวก ยามน้ำลดจะปรากฏสันทรายทอดยาวให้เดินไปเที่ยวชมได้ บนยอดเขาล้อมหมวกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เชิงเขามีศาลเจ้าพ่อเขาล้อมหมวกและเป็นที่ตั้งของเขตอนุรักษ์พันธุ์ค่างแว่น อ่าวมะนาวเคยเป็นยุทธภูมิในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างกองทัพไทยและกอง
ทัพญี่ปุ่น ปัจจุบันภายในกองบินจะเห็น อนุสาวรีย์วีรชน รูปทหารอากาศในชุดนักบินยืนอยู่บนใบพัดเครื่องบินถือธงชัยเฉลิมพล หันหน้าออกทะเลและยังมี อุทยานประวัติศาสตร์กองบิน 53 โดยจะเห็นแท่งหินขนาดใหญ่แกะสลักจำลองฉากการต่อสู้ระหว่างกองทัพไทยกับญี่ปุ่น บริเวณอ่าวมะนาว ทุกปีมีการจัดงานวันรำลึกวีรกรรม 8 ธันวาคม 2484 นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปพักผ่อนเล่นน้ำที่ชายหาด มีร้านอาหาร สโมสรและบริการบ้านพักหลายแบบ ทั้งแบบทาวเฮาส์ คอนโดมิเนียม สำรองห้องพักที่ โทร. 0 3266 1087-9, 0 3261 1017 ต่อ 60464 ห้องแอร์ 60461 ห้องพัดลม (จองล่วงหน้า 1 เดือน) ในกรณีที่เข้าพักเป็นหมู่คณะควรทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า
การเดินทาง
รถยนต์ จากเทศบาลเมืองประจวบฯ ไปทางทิศใต้ตามถนนสละชีพ ถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3167 ผ่านสนามบินกองบิน 53 ถึงอ่าวมะนาว ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร หรือ จากอ่าวประจวบใช้ถนนเลียบหาด
รถโดยสารประจำทาง ลงรถที่ท่ารถประจวบคีรีขันธ์ แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง
รถไฟ ลงรถที่สถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง


วัดอ่าวน้อย (ถ้ำพระนอน) |
ตั้งอยู่เชิงเขาบริเวณอ่าวน้อย ก่อนถึงตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีทางเข้าแยกจากถนนเพชรเกษม กิโลเมตรที่ 314 เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร ในบริเวณวัดมีถ้ำขนาดเล็กประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ในอดีตถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งชาวเรือมักเข้ามาอาศัยหลบพายุฝน

อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ |
เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอแห่งนี้และได้เสด็จมาทอดพระเนตรพร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์และทูตานุทูตชาวต่างประเทศ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 ให้ดำเนินโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าฯ และในวันที่ 3 พฤษภาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าเจ้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษา สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2536
ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
อาคารดาราศาสตร์ เป็นอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน คือ อาคารพันทิวาทิต พันพินิจจันทรา ดาราทัศนีย์ มีฐานการเรียนรู้ 11 ฐาน ได้แก่ บันทึกเกียรติยศ, โลกอนาคต, เทคโนโลยีเพื่ออาชีพ, โลกของเด็ก, ฟากฟ้า ณ หว้ากอ, พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย, มนุษย์กับดวงดาว, พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ไทยกับดาราศาสตร์, รวมใจชาวประจวบ, ความเป็นไปในจักรวาล และเทคโนโลยีอากาศและเอกภพ
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอ เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีทั้งปลาทะเล ปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย และยังมีอุโมงค์ปลาใต้น้ำ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้และเห็นถึงความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตในแต่ละระดับความลึกของน้ำราวกับอยู่ใต้ท้องทะเลลึก
สวนผีเสื้อ บรรยากาศร่มรื่นของผีเสื้อพันธุ์พื้นเมืองกว่า 20 ชนิด ได้รับความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของผีเสื้อ และยังมีตัวอย่างของผีเสื้อที่เก็บรักษาไว้ให้ได้ศึกษา
สำหรับผู้สนใจกิจกรรมค่ายพักแรมทางอุทยานมีการจัด กิจกรรมค่ายหว้ากอ เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายสอนน้องดูดาว ค่ายปักษี ค่ายสำหรับเด็กพิการ ค่ายอนุรักษ์พลังงาน มีกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น ดูนก ดูดาว Walk Rally กิจกรรมชายหาด กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ รวมทั้งยังมีที่พักรองรับได้ประมาณ 120-200 คนและเต็นท์พักแรมไว้คอยบริการ โดยผู้ที่สนใจสามารถจองค่ายและสอบถามเพิ่มได้ที่ งานการตลาด โทร. 0 3266 1098, 0 3266 1726, 0 3266 1104 ในวันและเวลาราชการ หรือ http://www.waghor.go.th/ อีเมล waghor@hotmail.com
อุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอเปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท เข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3266 1098, 0 3266 1726-7 ต่อ 247 โทรสาร 0 3266 1727
การเดินทาง
จากตัวเมืองเดินทางมาทางทิศใต้ 12 กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษมถึงกิโลเมตรที่ 335–336 จะมีทางแยกเข้าหว้ากอทางด้านซ้ายมือ

น้ำตกไทรคู่ |
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลร่อนทอง อยู่หางทิศตะวันตกของถนนเพชรเกษม บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี น้ำตกไทรคู่แห่งนี้มีทังหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นจะมีความสวยงามที่แตกต่างกันไป โดยชั้นที่มีความงามมากที่สุดคือชั้นที่ 5 ซึ่ง น้ำตกในชั้นนี้จะมีลักษณะที่เป็นหน้าผาขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังสามารถพบสัตว์ป่าหลายชนิดที่บริเวณน้ำตกอีกด้วย น้ำตกไทรคู่มีน้ำไหลตลอดปี มีชั้นเชิงใหญ่ ๆ 3 ชั้น และชั้นอื่น ๆ อีกที่ลดหลั่นกันลงไปอีกหลายชั้น และที่น้ำตกไทรคู่ชั้นที่ 2,3,4, มีขนาดไม่ใหญ่มากนักแต่สามารถนั่งพักผ่อนและเล่นน้ำได้ อีกชั้นหนึ่งมีสายน้ำไหลทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาที่สูงเกือบ 30 เมตร ลงมากระทบแผ่นหินและแอ่งน้ำก่อนจะไหลลงมาเป็นน้ำตกชั้นที่ 4 และน้ำตกแห่งนี้เองคือที่มาของชื่อน้ำตกไทรคู่ เพราะว่ามีต้นไทรขนาดใหญ่สองต้นขึ้นมาอยู่ด้านบนของหน้าผา ทำให้รอบ ๆ บริเวณนี้มีร่มเงาและมีบรรยากาศที่ดีเหมาะแก่การเล่นน้ำและพักผ่อน ส่วนน้ำตกชั้นที่6 ต้องขึ้นโดยการไต่ไปตามหน้าผาที่ค่อนข้างชันและชื้น แต่จะมีรากของต้นไม่ที่ห้อยลงมาเพื่อให้เพื่อให้ผู้ที่รักการท่องเที่ยวแนวผจญภัยสามารถปีนขึ้นไปได้ ด้านบนของหินผาน้ำตกชั้นที่ 5 นั้น มีลักษณะเป็นลานหินขนาดใหญ่มีสายน้ำไหลผ่านลงมาตามร่องหิน เป็นระยะทางประมาณ 50 เมตร ซึ่งลานหินและสายน้ำแห่งนี้คือน้ำตกชั้นที่ 6 ของน้ำตกไทรคู่ นอกจากนี้บริเวณลานหินแห่งนี้ยังเป็นจุดชมวิวได้อีกด้วย การเดินทางไปน้ำตกไทรคู่จะต้องใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3196 จากตัวอำเภอบางสะพานมุ่งหน้าไปตามเส้นทางจนกระทั่งถึงทางแยกวัดปกโถ เลี้ยวขวาเข้าไป เจอสะพานไม้เล็ก ๆ ข้ามห้วยไปประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกไทรคู่
